วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

วิธีพื้นฐานในการทำสบู่แฮนด์เมด


สบู่ คือของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ใช้ทำความสะอาดชำระร่างกาย นอกจากนั้นสบู่ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานในการดูแลรักษาผิวพรรณให้สวยงามและมีสุขภาพผิวที่ดีอีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่าการทำสบู่แฮนด์เมด พื้นฐานหลักๆ มีด้วยกันอยู่ 3 วิธี คือ


วิธีที่ 1 การทำสบู่แบบหลอมละลาย Melt & Pour Process Soap
ในวงการสบู่แฮนด์เมด เราจะเรียกกันว่า "สบู่กลีเซอรีน" สบู่ชนิดนี้จะมีความชุมชื้นสูง เนื่องจากมีการเติมกลีเซอรีนลงไปในขั้นตอนการทำด้วย ซึ่งจะเติมกันในช่วงผสม Lye กับ Fatty Acid ทำให้สบู่ใสและมีค่าการบำรุงให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว วิธีการทำก็ง่ายไม่ยุ่งยาก
โดยการนำสบู่ใสกึ่งสำเร็จรูป หรือ เบสสบู่ (Base Clear Soap) มาหลอมละลายในไมโครเวฟหรือหม้อตุ๋นสองชั้น (ป้องกันกลีเซอรีนสัมผัสกับความร้อนโดยตรง อาจทำให้ไหม้ได้) ใช้อุณหภูมิประมาณ 40-60 องศาเซลเซียส เมื่อหลอมละลายหมดแล้ว ก็ปรุงสี ปรุงกลิ่น เพิ่มสารบำรุง เช่น สารสกัดว่านหางจระเข้ ผงสมุนไพร วิตามิน โดยใส่ในปริมาณที่เหมาะสม ระวังเรื่องค่า PH ให้เหมาะสมกับผิว แล้วเทลงแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ เมื่อสบู่แข็งตัวดีแล้วก็แกะแรปด้วยฟิล์มสำหรับแรปสบู่ จากนั้นก็ใส่กล่องบรรจุ ติดฉลาก พร้อมออกสู่ตลาดได้สำหรับผู้ที่ทำจำหน่าย
ส่วนสบู่ใสกึ่งสำเร็จรูป นั้นมีขายตามร้านขายเคมีภัณฑ์ทั่วไป หรือบางร้านมีจัดเซตพื้นฐานไว้จำหน่ายค่ะ


วิธีที่ 2 การทำสบู่แบบกวนเย็น Cold Process Soap
วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมทำกันมานานหรือจะเรียกว่าเป็นการทำสบู่แบบดั้งเดิมก็ว่าได้ ซึ่งเป็นการผสมกันระหว่างด่าง(Lye) กับกรดไขมัน โดยเราสามารถใช้ได้ทั้งไขมันจากพืชและสัตว์ แต่แนะนำเป็นพืชนะคะ เนื่องจากหาง่ายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันทานตะวัน เป็นต้น โดยประโยชน์จากน้ำมันแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติในการชำระล้างและบำรุงผิวแตกต่างกัน เราสามารถผสมผสานแต่ละชนิดเข้าด้วยกันได้ค่ะ การทำสบู่เป็นทั้งวิทยศาสตร์และศิลปะที่ผสมผสานกันได้อย่างน่าทึ่ง สวยงดงามบางครั้งก็เหมือนขนมเค้ก สุดแล้วแต่คนทำจะแต่งแต้มจินตนาการลงไป เห็นแล้วแทบไม่เชื่อว่านี่คือสบู่
โดยวิธีการทำนั้น เราจะต้องรู้สัดส่วนของด่าง(Lye) ต่อน้ำมัน และน้ำสำหรับการละลายด่างเสมอ ก่อนอื่นต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันเช่น ถุงมือ แว่นตา ทุกครั้งเพื่อป้องกันอันตราลจากด่าง จากนั้นก็ทำการ*ละลายด่างในน้ำ และรอให้อุณภูมิของด่างลดลงปกติก่อนเทน้ำละลายด่างลงในน้ำมัน กวนให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน สังเกตุว่าเมื่อเริ่มข้นคล้ายน้ำสลัด เราจะเรียกว่า Light Trace ถึงตอนนี้เราจะสามารถปรุงสี ใส่สมุนไพร ปรุงกลิ่น ได้แล้ว หากทำหลายสีก็แบ่งใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นคนต่อไปจนข้นขึ้น ได้เนื้อเหมือนมายองเนส เราเรียกว่า Medium Trace แล้วเริ่มเทลงแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ได้เลยค่ะ เมื่อใส่แม่พิมพ์แล้วก็ให้เก็บรักษาไว้ในที่อุณหภูมิอุ่นๆนิดนึงเพื่อให้สบู่เจลค่ะ โดยจะใช้ผ้าห่อ หรือจะวางในกล่องโฟมเพื่อเป็นการรักษาอุณภูมิก็ได้ รอให้สบู่แข็งตัว 1 วัน หรือ 2-3 วันขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันที่เราเลือกใช้ค่ะ เมื่อสบู่แข็งตัวดีแล้วก็นำมาตัดเป็นก้อนๆ ผึงในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ระหว่างนี้สบู่ยังใช้ไม่ได้นะคะ ให้รอจนขบวนการทางเคมีที่เรียกว่า ซาพอนนิฟิเคชัน(Saponification) ทำปฏิกิริยาสมบูรณ์ก่อน ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ จากนั้นจึงทดสอบค่า PH ระวังต้องให้เหมาะสมกับผิว ด้วยค่ะ
*หมายเหตุ : การละลายด่าง ต้องเทด่างลงในน้ำ ห้ามเทน้ำลงในด่าง 


วิธีที่ 3 การทำสบู่แบบกวนร้อน Hot Process Soap
วิธีนี้จะคล้ายๆกับวิธีที่ Cold Process soap เลยค่ะ ทั้งเรื่องส่วนผสมและวัตถุดิบ แต่จะต่างกันตรง Hot Process นี้จะมีการใช้ความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงระยะเวลาในขบวนการ ซาพอนนิฟิเคชัน (Sponification) จะสั้นกว่า
โดยขั้นตอนผสมด่างกับน้ำมันแล้วกวนจนได้ Light Trace เราจะนำไปนึ่งในหม้อที่เตรียมไว้ โดยใช้อุณหภูมิประมาน 76 องศาเซลเซียส คนวนไปค่ะ จนได้เนื้อสบู่เจลใสคล้ายวาสลีน จึงทำการทดสอบการเกิดฏิกิริยา Sponification สมบูรณ์ จากนั้นจึงนำสีผสมที่เตรียมไว้ผสมให้เข้ากัน ปล่อยให้เย็นลงจึงใส่น้ำหอม ขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างรวดเร็วเพราะสบู่จะแข็งตัวก่อน จากนั้นจึงเทลงแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วันก็สามารถตัดได้แล้วค่ะ


เมื่อเรารู้พื้นฐานการทำสบู่อย่างนี้แล้ว ต่อไปนี้การทำสบู่แฮนด์เมดก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ทดลองทำ อย่างสม่ำเสมอ คุณก็เป็น Soaper ได้ค่ะ bye bye.

วิธีพื้นฐานในการทำสบู่แฮนด์เมด

สบู่ คือของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ใช้ทำความสะอาดชำระร่างกาย นอกจากนั้นสบู่ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานในการดูแลรักษาผิวพรรณให้สวยงามและมี...